สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text | หน้าค้นหา

เนตติปกรณ์แปล : 6. จตุพยูหหารวิภังค์

สารบัญ
       
       [25] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระคือ จตุพยูหะ เป็นไฉน
       หาระที่กล่าวว่า "เนรุตตะ อธิปปายะ นิทานะ สนธิเบื้องต้นเบื้องปลาย 4 พวก" นี้ ชื่อว่า จตุพยูหะ ฯ ว่าโดยสังเขป ท่านแสดงจตุพยูหะว่า "เนรุตตะ อธิปปายะ นิทานะ และสนธิเบื้องต้นเบื้องปลายของพระสูตรอันบุคคลพึงแสวงหาโดยพยัญชนะ" ดังนี้ ก่อน ฯ
       บรรดาบท 4 เหล่านั้น เนรุตตะเป็นไฉน
       ภาษาใด ประกอบด้วยบทแห่งนิรุตติ ญาณใดเป็นไปโดยชื่อแห่งธรรมทั้งหลาย นิรุตตินั้นเป็นไฉน ญาณนั้นเป็นไฉน จริงอยู่ เมื่อใด ภิกษุย่อมรู้ชื่อของอรรถะ และย่อมรู้ชื่อของธรรม เมื่อนั้น เธอย่อมตั้งไว้ซึ่งโวหารแห่งอรรถะและแห่งธรรมได้โดยประการนั้น ๆ ก็ภิกษุนี้ ท่านเรียกว่า ผู้ฉลาดในอรรถะผู้ฉลาดในธรรม ผู้ฉลาดในพยัญชนะ (คือในอักขระและพากย์) ผู้ฉลาดในนิรุตติ(คือวิเคราะห์ศัพท์) ผู้ฉลาดในเบื้องต้นเบื้องปลายแห่งเทศนา ผู้ฉลาดในธรรมเทศนา ผู้ฉลาดในบัญญัติ คือ คำพูดที่เป็นอดีต ผู้ฉลาดในคำพูดที่เป็นอนาคตผู้ฉลาดในคำพูดที่เป็นปัจจุบัน ผู้ฉลาดในถ้อยคำของหญิง ผู้ฉลาดในถ้อยคำของชาย ฉลาดในถ้อยคำของผู้มิใช่เพศชายและหญิง ผู้ฉลาดในถ้อยคำมีความหมายอย่างเดียว และผู้ฉลาดในถ้อยคำมีความหมายหลายอย่าง นิรุตติคือ บทโวหารของสัตว์ทั้งปวง บัณฑิตพึงวิเคราะห์อย่างนี้ และโลกสมัญญาทั้งปวง พึงกระทำตามควร นี้ชื่อว่าประกอบด้วยบทนิรุตติ หรือเรียกว่า เนรุตตะ ฯ
       [26] บรรดาบท 4 เหล่านั้น อธิปปายะเป็นไฉน
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มคันใหญ่มีประโยชน์ในฤดูฝน นี้เป็นอานิสงส์ในธรรม อันบุคคลประพฤติดีแล้วเพราะผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ" ดังนี้ ฯ
       ในคาถานี้ อะไรเป็นอธิปปายะ (คือ ความประสงค์ ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ความประสงค์นี้ว่า "สัตว์เหล่าใด ปรารถนาจักพ้นจากอบายทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นจักประพฤติธรรม" ดังนี้ อธิปปายะ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าในคาถานี้ ฯ
       พระสูตรว่า "โจรผู้มีธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมทั้งของกลาง ย่อมเดือดร้อน และถูกจับเพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ ผู้มีธรรมอันชั่วช้านี้ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อน และถูกจับไปในปรโลกเพราะกรรมของตนฉันนั้น" ดังนี้ ฯ
       ในคาถานี้ คำอธิบายของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร โวหารว่า "สัตว์จักเสวยวิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่ายินดี ของกรรมทั้งหลายอันประกอบด้วยเจตนาอันตนกระทำแล้ว สั่งสมไว้แล้วให้เสวยทุกข์" ดังนี้เป็นความประสงค์อธิบายในอธิการนี้ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า" ดังนี้ ฯ
       ในคาถานี้ คำอธิบายของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร โวหารนี้ว่า "สัตว์เหล่าใด มีความปรารถนาสุข สัตว์เหล่านั้น จักไม่กระทำกรรมอันลามก" ดังนี้เป็นความประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในอธิการนี้ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เมื่อใด บุคคลเป็นผู้บริโภคมาก มักง่วงซึม นอนหลับ พลิกกลับไปมา ดุจสุกรใหญ่อันบุคคลปรนปรือด้วยเหยื่อ เมื่อนั้น บุคคลนั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าห้อง (นอน) บ่อย ๆ" ดังนี้ในคาถานี้ คำอธิบายของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร ในอธิการนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์อธิบายว่า "สัตว์เหล่าใด ปรารถนาเพื่อยับยั้งชราและมรณะ สัตว์เหล่านั้น จักเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ จักเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้ประกอบเนือง ๆ ในความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดราตรีเบื้องต้นและตลอดราตรีเบื้องปลาย จักเป็นผู้รู้แจ้งในกุศลธรรมทั้งหลาย และจักเป็นผู้มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายคือ ในพระเถระทั้งหลาย พระนวกะทั้งหลาย และพระมัชฌิมะทั้งหลาย" ดังนี้ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ความไม่ประมาทเป็นทางเครื่องถึงอมตนิพพาน ความประมาทเป็นทางแห่งมัจจุ ชนผู้ไม่ประมาทแล้วย่อมไม่ตาย ชนเหล่าใดประมาทแล้ว ชนเหล่านั้นเหมือนคนตายแล้ว"3 ดังนี้ ฯ
       ในคาถานี้ มีอธิปปายะของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร ในอธิการนี้มีอธิปปายะของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "สัตว์เหล่าใดผู้ปรารถนาเพื่อแสวงหาอมตนิพพานจักมี สัตว์เหล่านั้นจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่" ดังนี้ ฯ เทศนานี้ชื่อว่า อธิปปายะ ฯ
       [27] บรรดาบท 4 นั้น นิทานะเป็นไฉน
       นายธนิยะคนเลี้ยงโค กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "คนย่อมเพลิดเพลิน เพราะอุปธิทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนมีบุตรย่อมเพลิดเพลินเพราะบุตร คนมีโคย่อมเพลิดเพลินเพราะโค ฉะนั้นคนใดไม่มีอุปธิ คนนั้นย่อมไม่เพลิดเพลินเลย"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "คนย่อมเศร้าโศกเพราะอุปธิทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนมีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร คนมีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโค ฉะนั้น คนใดไม่มีอุปธิ คนนั้นย่อมไม่เศร้าโศกเลย" ดังนี้บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะ (การณะ) นี้ ด้วยวัตถุ (อุปธิ) นี้ว่า ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอุปธิที่บุคคลถือเอาในภายนอก ฉะนั้น ฯ อุปธิภายในเหมือนอย่างมารผู้มีบาป ยังศิลาใหญ่ให้ตกไปจากภูเขาคิชฌกูฏ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "แม้ถึงว่าท่านจะพึงกลิ้งภูเขาคิชฌกูฏหมดทั้งสิ้น ความหวั่นไหวก็จะไม่พึงมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบแน่แท้" ฯ
       "ถึงแม้ท้องฟ้าจะพึงแตก แผ่นดินพึงแยก สัตว์ทั้งหลายพึงสะดุ้งกลัวกันหมดก็ตามที แม้ถึงว่าหอกหรือหลาวจะจ่ออยู่ที่อกก็ตามเถิดพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงทำการป้องกัน ในเพราะอุปธิทั้งหลาย"ดังนี้ ฯ
       บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส อุปธิ คือ กาย ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า "นักปราชญ์ทั้งหลาย ไม่กล่าวเครื่องผูกซึ่งเกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้และเกิดแต่หญ้าปล้องว่ามั่นคง แต่สัตว์ผู้หลงแล้ว กำหนัดแล้วในแก้วมณีและกุณฑล และความเยื่อใยในบุตรและภรรยาเหล่าใด" ดังนี้ ฯ
       บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหาในวัตถุทั้งหลายอันเป็นภายนอก ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า "นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวเครื่องผูก อันถ่วงลง อันหย่อนอันเปลื้องได้โดยยากนั้นว่ามั่นคง นักปราชญ์ทั้งหลาย ตัดเครื่องผูกแม้นั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ละกามสุขแล้ว ย่อมเว้นรอบ" ดังนี้ ฯ
       บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา อันเป็นวัตถุอันเป็นไปในภายนอก ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "จงพิจารณาดูอัตภาพนี้ อันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด เป็นของเน่าเปื่อย มีกลิ่นเหม็นซึ่งอาศัยกาย มีสิ่งปฏิกูลไหลออกอยู่ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน อันชนพาลทั้งหลายปรารถนายิ่งนัก" ดังนี้ ฯ
       บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา ด้วยสามารถแห่งความสิเนหาในวัตถุอันเป็นไปในภายในดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "พวกเธอ จงตัดความเยื่อใยในตนเสีย เหมือนบุคคลถอนดอกโกมุทที่เกิดในสารทกาล (ฤดูใบไม้ร่วง) ด้วยมือ จงพอกพูนทางแห่งสันติทีเดียวเพราะพระนิพพานอันพระสุคตแสดงแล้ว" ดังนี้ ฯ
       บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา ด้วยสามารถแห่งความสิเนหาในวัตถุอันเป็นไปในภายใน ฯ
       บทนี้ ชื่อว่า นิทานะ ฯ
       บรรดาบท 4 นั้น สนธิเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นไฉน
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า "สัตว์ทั้งหลายผู้มืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้แล้ว ถูกเครื่องมุง คือตัณหาปกปิดไว้แล้ว ถูกเครื่องผูก คือกามคุณผูกไว้แล้วด้วยความประมาท ย่อมไปสู่ชรา และมรณะเหมือนปลาที่ปากไซ เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนมไปตามแม่โค ฉะนั้น" ดังนี้ ฯ
       สนธินี้ท่านกล่าวว่า กามตัณหา กามตัณหานั้นย่อมประกอบไว้โดยเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นไฉน เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "บุคคล ผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่รู้อรรถะ บุคคลผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่เห็นธรรม ราคะย่อมครอบงำนรชนเมื่อใด เมื่อนั้นความมืดตื้อย่อมมี" ดังนี้ ฯ
       ตัณหานั้นนั่นเอง ตรัสเรียกว่า ปุพพาปรสนธิ เพราะกระทำความมืดและกระทำการปกคลุมสัตว์ไว้ คือ ตัณหานั้นนั่นแหละ ท่านกล่าวไว้โดยปริยุฏฐาน ด้วยบททั้ง 2 นี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายผู้มืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมแล้ว ถูกเครื่องมุงคือตัณหาปกปิดแล้ว" และคำว่า "บุคคลผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่รู้อรรถะ ผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่เห็นธรรม" ดังนี้ ฯ
       ความไม่รู้อันใด อันกระทำซึ่งความมืด นี้พึงเป็นสมุทัย และตัณหาใดท่านกล่าวว่านำไปเกิดในภพใหม่ ตัณหานี้ก็พึงเป็นสมุทัย ฯ ก็บทใด ที่ตรัสว่า กามบทเหล่านี้ เป็นกิเลสกาม ฯ บทใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้" ดังนี้ ด้วยบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงการกลุ้มรุมจิตแห่งกามเหล่านั้นนั่นแหละด้วยการประกอบเพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า เครื่องผูกคือตัณหา ด้วยสามารถแห่งกิเลส และด้วยสามารถแห่งการกลุ้มรุมจิต ฯ คนใด เช่นกับคนที่เป็นไปกับตัณหามีประการตามที่กล่าวแล้ว คนเช่นนั้น ย่อมไปสู่ชราและมรณะ นี้เป็นคำอธิบายการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ในคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ตัณหา ย่อมนำไปสู่ชราและมรณะ" ตามคาถาที่ตั้งไว้ ฉะนี้ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานนี้ว่า "ผู้ใด ไม่มีกิเลสเครื่องให้เนิ่นช้า และตัณหานอนเนื่องอยู่ ก้าวล่วงแล้วซึ่งที่ต่อ คือตัณหา และลิ่ม คืออวิชชาได้ สัตวโลกแม้ทั้งเทวโลกผู้เป็นไปกับตัณหา ย่อมไม่รู้ซึ่งมุนีผู้ไม่มีตัณหานั้น ผู้เที่ยวไปอยู่ในโลก"ดังนี้ ฯ
       ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ชื่อว่า ปปัญจะ (คือ ธรรมให้เนิ่นช้า) สังขารทั้งหลาย ที่ชื่อว่า ปปัญจะ เพราะอันตัณหา ทิฏฐิและมานะนั้นปรุงแต่งแล้วตัณหาที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ด้วยอรรถะว่าละไม่ได้ และได้ชื่อว่า ฐิติเพราะเป็นเหตุให้สัตว์ตั้งอยู่ ปริยุฏฐานแห่งตัณหา และตัณหาที่ท่านกล่าวว่า ท่องเที่ยวไป 36 ที่เป็นดุจข่าย ชื่อว่า สันตานะ (การสืบต่อ) โมหะ ชื่อว่า ลิ่ม ฯ
       บุคคลใดก้าวล่วงอกุศลทั้งปวงนี้ คือ ปปัญจธรรม สังขารอันปปัญจธรรมนั้นปรุงแต่งแล้ว ฐิติคือการนอนเนื่องอยู่แห่งตัณหา สันตานะแห่งตัณหา และลิ่ม คือโมหะ บุคคลนี้ บัณฑิตเรียกว่า ผู้ไม่มีตัณหา ฉะนี้แล ฯ
       [28] ในปปัญจธรรมเป็นต้นเหล่านั้น อกุศลเจตนาซึ่งกลุ้มรุมจิตด้วยอำนาจแห่งวีติกกมะ พึงให้ทิฏฐธัมมเวทนียะ หรืออุปปัชชเวทนียะ หรืออปราปริยเวทนียะฉันใด ตัณหาก็ให้ผล 3 อย่าง ฉันนั้น คือ ให้ทิฏฐธัมมเวทนียะ หรืออุปปัชชเวทนียะ หรือ อปราปริยเวทนียะ ฯ สมดังพระดำรัสที่ตรัสว่า "บุคคลใด ย่อมทำกรรมใด ที่ทำด้วยความโลภ ด้วยกาย หรือ ด้วยวาจา หรือด้วยใจ บุคคลนั้น ย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้น ในทิฏฐธัมมเวทนียะนี้ หรือในอุปปัชชเวทนียะนี้ หรือในอปราปริยเวทนียะนี้" ดังนี้ ฯ
       พระพุทธพจน์นี้ ย่อมสมควรโดยการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ
       ในการสืบต่อนั้น ปริยุฏฐานแห่งตัณหา เป็นกรรมอันบุคคลพึงเสวยผลในอัตภาพปัจจุบัน หรือในอัตภาพที่จะเกิดขึ้น หรือว่าในภพต่อ ๆ ไป ฉันใดกรรมก็ย่อมให้ผล 3 อย่าง ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "หากว่า คนพาลมีปกติฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ กระทำกรรมใดเขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตภาพปัจจุบันนี้ หรือในภพที่จะเกิดขึ้น หรือในภพต่อ ๆ ไป" ดังนี้ พระพุทธพจน์นี้ก็ประกอบในการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ
       ในการสืบต่อนั้น ปริยุฏฐานแห่งตัณหาอันบุคคลพึงละได้ด้วยกำลังแห่งการพิจารณา มีอสุภะและอนิจจะเป็นต้น (ตทังคปหานะ) สังขารที่ปรุงแต่งด้วยปปัญจธรรมนั้น พึงละได้ด้วยทัสสนะ (ปฐมมรรค) ตัณหาวิจริต 36 พึงละได้ด้วยกำลังแห่งการเจริญมรรคในเบื้องบน ตัณหาแม้ทั้ง 3 อันบุคคลย่อมละได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ ความไม่มีแห่งตัณหาใด ความไม่มีนี้ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ (นิพพานธาตุที่มีวิบากขันธ์เหลืออยู่) และความไม่มีแห่งตัณหานี้ ชื่อว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เพราะการแตกแห่งกาย ฯ
       สภาวะเครื่องผูกพัน ท่านเรียกว่า เป็นเครื่องเนิ่นช้า (ปปัญจะ) เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เพราะดำริถึงรูปที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุ อันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน จึงทำให้เนิ่นช้า" ดังนี้ และเหมือนอย่างที่ตรัสว่า "ดูกร ราธะ เธอจงเป็นผู้ไม่อาลัยในรูปที่เป็นไปล่วงแล้ว อย่ายินดีรูปที่ยังไม่มาถึง จงปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับเพื่อสละ เพื่อสละคืน ซึ่งรูปที่เป็นปัจจุบัน" ดังนี้ ฯ พระพุทธพจน์นี้ย่อมประกอบด้วยความสืบต่อทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ
       อนึ่ง ธรรมเครื่องเนิ่นช้าใด สังขารทั้งหลายเหล่าใด และความยินดียิ่งซึ่งรูปอันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันใด สภาวะนี้ทั้งหมด มีเนื้อความเป็นอย่างเดียวกัน ฯ อีกอย่างหนึ่ง พระธรรมเทศนาอันหาประมาณมิได้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยบททั้งหลายอันประกอบกันและกัน บัณฑิต เทียบเคียงพระสูตรกับพระสูตรอย่างนี้แล้ว ประกอบสนธิโดยเบื้องต้นและเบื้องปลายแล้วอธิบายพระสูตรเถิด ฯ
       อนึ่ง สนธิเบื้องต้นและเบื้องปลายนี้ มี 4 อย่าง คือ อัตถสนธิ 1พยัญชนสนธิ 1 เทสนาสนธิ 1 และนิทเทสสนธิ 1 ฯ
       บรรดาสนธิ 4 เหล่านั้น อัตถสนธิ (การต่ออรรถะ) ได้แก่ บท 6 คือ
       1. สังกาสนา การบอก,
       2. ปกาสนา การประกาศ,
       3. วิวรณา การเปิดเผย,
       4. วิภชนา การจำแนก,
       5. อุตตานีกัมมตา การทำให้ตื้น,
       6. ปัญญัตติ บัญญัติ ฯ
       พยัญชนสนธิ (การต่อพยัญชนะ) ได้แก่ บท 6 คือ
       1. อักขระ ตัวอักษร,
       2. บท ส่วน พากย์,
       3. พยัญชนะ ทำอรรถะให้ปรากฏ,
       4. อาการ การจำแนก,
       5. นิรุตติ ภาษา,
       6. นิทเทส การอธิบาย ฯ
       เทสนาสนธิ (แสดงลักษณะนิพพานธาตุ) ว่า บุคคลผู้ได้ฌานอาศัยปฐวีเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ อาศัยอาโปเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้อาศัยเตโชเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ อาศัยวาโยเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ ฯลฯ บุคคลได้อรูปฌาน อาศัยอากาสานัญจายตนะ ... อาศัยวิญญาณัญจายตนะ ... อาศัยอากิญจัญญายตนะ ... อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะเพ่งอยู่ก็ย่อมไม่รู้ บุคคลอาศัยสันดานแห่งสัตว์ในโลกนี้ ... อาศัยสันดานแห่งสัตว์ในปรโลกเพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ บุคคลเว้นสันดานทั้ง 2 แล้ว วัตถุใด อันตนเห็นแล้ว(ทิฏฺฐํ) อันตนได้ยินแล้ว (สุตํ) อันตนทราบแล้ว (มุตํ) และธัมมารมณ์มีอาโปเป็นต้น อันตนรู้แจ้งแล้ว (วิญฺญาตํ) ที่บุคคลถึงแล้ว อันแสวงหาแล้ว ไม่แสวงหาแล้ว หรือ วัตถุใด อันเป็นอารมณ์ของวิตก ของวิจาร หรืออันบุคคลคิดด้วยใจอันใด บุคคลอาศัยวัตถุแม้นั้นเพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ ฯ แต่พระขีณาสพนี้ เพ่งอยู่ด้วยฌานในผลสมบัติ ย่อมรู้เพราะความที่ตัณหาทิฏฐิ และมานะท่านละได้แล้ว ชื่อว่า ย่อมรู้ด้วยจิตที่ไม่อาศัยตัณหา ทิฏฐิและมานะนั้น ที่ใคร ๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์รู้ไม่ได้เพ่งอยู่ ฯ
       เหมือนมารผู้มีบาป แสวงหาอยู่ซึ่งวิญญาณของกุลบุตรชื่อโคธิกะย่อมไม่รู้ ย่อมไม่เห็น เพราะกุลบุตรนั้นมีธรรมเครื่องเนิ่นช้าอันตนก้าวล่วงแล้วเพราะละตัณหา แม้ที่อาศัยของทิฏฐิก็ไม่มี ก็วิญญาณของกุลบุตรโคธิกะฉันใดวิญญาณของท่านพระวักกลิก็ฉันนั้น อันใคร ๆ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมไม่รู้เพราะความที่จิตอันกิเลสไม่อาศัยแล้ว การเทียบเคียงอรรถะแห่งพระสูตรทั้ง 2 นี้ ชื่อว่า เทสนาสนธิ ฯ
       บรรดาสนธิเหล่านั้น นิทเทสสนธิ เป็นไฉน
       บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยฝ่ายอกุศล บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัยพึงแสดงโดยฝ่ายกุศล บุคคลมีจิตอาศัย พึงแสดงโดยกิเลส บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัยพึงแสดงโดยโวทานะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความเป็นไปในสังสารบุคคลมีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความไม่เป็นไปแห่งสังสาร ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยตัณหาและอวิชชา บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยสมถะและวิปัสสนา บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอหิริกะและอโนตตัปปะบุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยหิริและโอตตัปปะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีสติและสัมปชัญญะ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยสติและสัมปชัญญะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอโยนิโส (ความไม่รู้) และอโยนิโสมนสิการ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความรู้และโยนิโสมนสิการบุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความเกียจคร้านและความเป็นคนว่ายากบุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยวิริยารัมภะและความเป็นคนว่าง่าย บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีศรัทธาและความประมาท บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยศรัทธาและความไม่ประมาท ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่ฟังพระสัทธรรมและความไม่สังวร บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยการฟังพระสัทธรรมและสังวร ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอภิชฌาและพยาบาท บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีอภิชฌาและความไม่พยาบาท ฯ บุคคลผู้มีิจิตอาศัย พึงแสดงโดยนิวรณ์ทั้งหลายและสังโยชน์ทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยเจโตวิมุตติอันสำรอกราคะและปัญญาวิมุตติอันสำรอกอวิชชา ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอุทเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยนิพพานธาตุที่เป็นสอุปาทิเสสะและอนุปาทิเสสะ ฯ
       การเทียบเคียงต่อนิทเทสกับนิทเทส ด้วยสามารถแห่งจิตอาศัย แห่งนิทเทสแรกมีอกุศลเป็นต้นกับนิทเทสหลังมีสังกิเลสเป็นต้น และด้วยสามารถแห่งจิตไม่อาศัย แห่งนิทเทสแรกมีกุศลเป็นต้นกับนิทเทสหลังมีโวทานะเป็นต้นนี้ ชื่อ ว่า นิทเทสสนธิ ฯ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าว จตุพยูหะว่า "เนรุตตะ อธิปปายะ นิทานะ และสนธิ" ดังนี้ ฯ
       จบ จตุพยูหหารวิภังค์
       7. อาวัฏฏหารวิภังค์
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)